เหตุผลทำไมคนถึงอยากลาออกจากงาน
จริง ๆ แล้วเรื่องการลาออกงานไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แล้วทำไมคนถึงอยากลาออกจากงาน สำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะมันหมายถึง ความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รายได้ การเดินทาง เรื่องการปรับตัวและเรียนรู้ใหม่ ๆ ด้านองค์กร ด้านตัวงาน และยังรวมไปถึงเส้นทางในอาชีพและหน้าที่การงาน (Career Path) อีกด้วย ซึ่งประเด็นหลังนี้มีหลาย ๆ ท่านที่อาจไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นปัจจัย ที่สำคัญมาก ๆ ประการหนึ่งเลยล่ะ หากเราปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่ได้วางแผนด้าน Career Path อาจทำให้เรา พลาดโอกาสที่ดีในหน้าที่การงานไปโดยไม่รู้ตัว
“แค่มีงานทำ” ไม่ใช่ความมั่นคงในชีวิตเสมอไป
ค่านิยมของคนรุ่นก่อน ๆ มักจะชอบมองว่า “การมีงานทำ” คือความมั่นคงและความสำเร็จในชีวิต เชื่อว่าต้องตั้งใจเรียนเพื่อโตมาจะได้ทำงานในบริษัทที่มั่นคง ได้สวัสดิการที่ดี มีเงินใช้ในบั้นปลายชีวิต ซึ่งบางครั้งก็ยอมทำงานที่เงินเดือนน้อยนิดเพียงพอรอเงินบำนาญตอนแก่ หรือยอมทนทำงานจนหัวแทบระเบิดเพื่อรอเลื่อนตำแหน่งโดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่คิดแบบนั้น เขาโตมาในยุคของเทคโนโลยี ทุกอย่างสะดวกสบาย และรวดเร็วไปหมด ดังนั้นเด็กรุ่นใหม่หลายคนจึงเป็นคนไม่ชอบรอ อยากเห็นผลลัพธ์ของสิ่งที่ทำให้ไวที่สุด พวกเขาจะมองว่าต้องทำยังไงถึงจะทำเงินได้เร็วที่สุด ต้องหารายได้จากทางไหนเพื่อมาซื้อความสะดวกสบายให้ชีวิตได้มากที่สุด และถ้าเจอสังคมทำงานแย่ ๆ พวกเขาก็อาจไม่ลังเลที่จะลาออกเพราะไม่ได้คิดว่าการลาออกคือความล้มเหลวในชีวิต
งานที่คิดไว้ ไม่เหมือนกับงานที่ได้ทำจริง
ก่อนจะทำงานที่หนึ่ง เป็นธรรมดาที่เราต้องพิจารณาภาพลักษณ์ขององค์กร หน้าที่ความรับผิดชอบ เงินเดือน รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ที่บอกในหน้าประกาศงาน หรือจากการสัมภาษณ์ก็ตาม แต่เมื่อเข้ามาทำงานจริงแล้ว มีหลายครั้งที่พวกเขากลับพบว่ามันคือหนังคนละม้วน ใน Jobs Description บอกหน้าที่ความรับผิดชอบเท่านี้ แต่พอทำจริงงานที่ไหนไม่รู้เพิ่มมาเต็มไปหมด เงินเดือนที่เคยขอไว้ก็ถูกกดลงจนน่าใจหาย ไม่สัมพันธ์กับหน้าที่ที่ต้องทำ สวัสดิการที่บอกว่ามีก็ไม่มีเหมือนที่บอก ให้ทำงานเกินเวลาแต่ก็ดันไม่ได้โอที พูดง่าย ๆ คือหลายอย่างไม่ใช่แบบที่เห็น หรือตกลงกันเอาไว้ในตอนแรก และด้วยเหตุนี้จึงทำให้เด็กรุ่นใหม่เกิดคำถามว่า ถ้าบริษัทไม่ซื่อสัตย์กับเขาตั้งแต่แรก พวกเขาจะทนอยู่ไปทำไมกัน
เชื่อว่าถ้ามีความสามารถ ก็มีทางเลือก
เด็กสมัยนี้ต่างเรียนจบปริญญากันมาทั้งนั้น พวกเขามีวุฒิการศึกษา มีความสามารถ มีโอกาสพัฒนาและเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเรียนต่อต่างประเทศ ลงคอร์สเรียนที่สนใจแบบระยะสั้น หรือเรียนคอร์สเรียนออนไลน์ บางคนมีศักยภาพสูงมากจนมั่นใจว่าตัวเองมีความสามารถมากพอ มีทางเลือกมากมายที่รออยู่ข้างหน้า ดังนั้นถ้าเจอหนทางและแนวทางที่ดีกว่า เขาก็ต้องเลือกทางที่ดีกว่าเป็นธรรมดา เพราะพวกเขาคิดว่าการค้นหางานที่ใช่ไปเรื่อย ๆ น่าจะดีกว่าทนอยู่กับงานที่ไม่ใช่ไปจนแก่ และอาจจะด้วยความที่เติบโตมาท่ามกลางเทคโนโลยีที่หมุนเร็วไม่หยุดอยู่กับที่ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พวกเขาจึงไม่กลัวกับความเปลี่ยนแปลง และกล้าที่จะแตกต่าง
การทำงานอยู่ที่เดิมนาน ๆ เงินเดือนขึ้นไม่เท่าเปลี่ยนงาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กรุ่นใหม่มีอัตราการเปลี่ยนงานมากกว่ามากเมื่อเทียบกับรุ่นเบบี้บูมเมอร์ เด็กรุ่นใหม่มองว่าใคร ๆ ก็อยากเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ดังนั้นเขาจะอยู่ต่อก็ต่อเมื่อบริษัทให้ค่าจ้างคุ้มค่ากับงานที่ทำ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เงินเดือนไม่สมเหตุสมผลกับงานที่ทำ พวกเขาก็พร้อมออกถ้าได้รับข้อเสนอจากที่ใหม่ที่ดีกว่า อีกทั้งการปรับขึ้นของเงินเดือนตามมาตรฐานของบริษัท เพิ่มขึ้นไม่เยอะเท่าการย้ายงานที่เงินเดือนขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด อย่างที่บอกว่าเด็กรุ่นใหม่เป็นประเภทไม่ชอบรอ รวมถึงชอบการท้าทายตัวเองด้วย พวกเขามองเงินเดือนเท่ากับความสามารถ คนเก่งก็ต้องได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากับความสามารถถึงจะถูก
เมื่อก่อนหลายคนอาจจะมีความเชื่อว่าการทำงานได้ไม่ถึงปีแล้วลาออก จะส่งผลต่อการหางานในครั้งต่อไป แต่ความเป็นจริงแล้วในปัจจุบันมีองค์กรมากมายที่ไม่ได้แคร์เรื่องนั้นแล้ว เพราะพวกเขามองว่าการรับคนเปลี่ยนงานบ่อย (Job Hopper) นั้นมีข้อดีอยู่ไม่น้อย เพราะผู้สมัครกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่มีความทะเยอทะยาน กล้าหาญ และปรารถนาที่จะเรียนรู้ในที่ใหม่ ๆ รวมถึงการเปลี่ยนงานมาเยอะ ก็จะทำให้พวกเขามีทักษะหลายอย่างที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อธุรกิจได้ ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่กลัวที่จะเปลี่ยนงานใหม่
มีงานอื่นที่สร้างเงินได้ไม่น้อยกว่า “งานประจำ”
เด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยแคร์ว่าต้องทำงานที่มีหน้ามีตาในสังคม ตำแหน่งหน้าที่สูง ๆ หรือต้องรับราชการเหมือนที่คนรุ่นก่อน ๆ คิด พวกเขามองว่าไม่ว่าจะทำงานอะไร ถ้าสุดท้ายแล้วผลลัพธ์มันทำเงินได้ไม่ต่างกันก็ถือว่าประสบความสำเร็จได้ ซึ่งปัจจุบันนี้โลกการทำงานนั้นเปิดกว้างมาก สมัยนี้มีช่องทางการทำเงินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน Freelance ทำธุรกิจส่วนตัว อย่างเช่นการขายของออนไลน์ที่ทำง่าย แถมสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ การเป็น Content Creator รวมถึงการเล่นหุ้น หรือการเทรดสกุลเงินดิจิทัลที่ทำได้ผ่านแอปฯ มือถือ ก็สามารถสร้างเงินได้จำนวนมาก แถมทำได้ไม่ยากเลย
คนอื่นไม่รับฟัง เพราะคิดว่าพวกเขาเป็นแค่ “เด็ก”
บางองค์กรยังยึดติดกับความคิดในแบบเดิม ๆ ว่าคนรุ่นใหม่ยังไม่โตพอ ทำให้บ่อยครั้งหัวหน้างานเลือกที่จะไม่รับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของเด็กรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเสนอไอเดียอะไรไปก็ถูกปล่อยผ่าน เพราะคิดว่าก็เป็นแค่เด็กรุ่นใหม่คนนึงที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงานเมื่อเทียบกับคนทำงานคนอื่น ๆ รวมถึงพวกเขาถูกจำกัดการทำงานด้วยขอบเขตและกฎระเบียบที่น่าอึดอัด เด็กรุ่นใหม่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง อยากทำงานในแบบที่ตัวเองต้องการ อยากเสนอไอเดีย อยากโต้แย้งในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อความเห็นของถูกปล่อยผ่านหรือถูกห้าม พวกเขาจึงไม่ได้พิสูจน์ในสิ่งที่ตัวเองต้องการทำ เมื่อนานไปจึงกลายเป็นความรู้สึกผิดหวัง ท้อแท้ และตามมาด้วยการลาออกในที่สุด
ผู้ใหญ่บางคนชอบเอาเปรียบ เพียงเพราะตัวเองอยู่มาก่อน
เด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยถูกเอารัดเอาเปรียบในที่ทำงานเพียงเพราะตัวเองอายุน้อย ไม่ว่าจะเป็นถูกหัวหน้าโยนงานมาให้แต่ไม่เคยสอนว่าต้องทำยังไง ให้ช่วยทำงานจิปาถะมากเกินไปทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ เจอระบบอาวุโสที่เกินกว่าเหตุ มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ทำให้รู้สึกว่าในที่ทำงานแห่งนี้ไม่มีความเสมอภาคเลย พวกเขามองว่าระบบอาวุโสทำให้คนที่มีความสามารถจริง ๆ ถูกมองข้ามเพียงเพราะเขามีอายุงานน้อย และระบบเหล่านี้จะทำให้องค์พัฒนาได้ยาก เพราะเด็กรุ่นใหม่ที่เก่ง ๆ ถูกกลืนหาย อีกทั้งเด็กสมัยนี้ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและความยุติธรรม ถ้าเจออะไรที่ไม่เป็นไปตามความเชื่อของเขา พวกเขาก็ไม่ลังเลเลยที่จะลาออก
อยู่ทำไมถ้าไม่ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เลย
การจะอยู่รอดได้ในโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เด็กรุ่นใหม่เชื่อว่าเขาจำเป็นต้องพัฒนาความรู้และทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ มีผลสำรวจนึงบอกว่าส่วนใหญ่เด็กรุ่นใหม่มีแพลนศึกษาต่อในระดับปริญญาที่สูงขึ้น รวมถึงต้องการสอบใบ Certificate ต่าง ๆ จึงไม่แปลกที่จะมองหาบริษัทที่มีสวัสดิการการเทรนนิ่งต่าง ๆ หรือมีสื่อการเรียนออนไลน์ให้กับพนักงาน รวมทั้งการทำงานในบริษัทก็ต้องทำให้เขารู้สึกว่าได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ดังนั้นถ้าพวกเขารู้สึกว่าบริษัทที่ทำอยู่ไม่มีที่ให้เขาพัฒนา หรืออยู่ไปก็ไม่มีทีท่าว่าจะได้ทักษะอะไรเพิ่มขึ้นมา การออกไปหาสิ่งที่ดีกว่าจึงกลายเป็นทางที่พวกเขาเลือก
ต้องการการสนับสนุนในเรื่อง Technology
ยุคนี้เต็มไปด้วยเทคโนโลยี และเด็กรุ่นใหม่ก็เติบโตมากับสิ่งเหล่านี้ ถ้าต้องมาทำงานกับบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองใช้ชีวิตได้ยากขึ้น ขัดใจว่าทำไมไม่ทำแบบนั้น ทั้งที่เทคโนโลยีจะช่วยให้การทำงานทั้งง่ายและเร็วขึ้นอีกเยอะ เพราะเด็กรุ่นใหม่มองว่าเทคโนโลยี หรืออุปกรณ์การทำงานที่ทันสมัยทำให้งานเสร็จได้เร็วขึ้น และก็อาจทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าในบางงาน
เปลี่ยนเพื่อ Work-Life Balance ที่ดีขึ้น
มีผลสำรวจบอกว่า Gen Z และ Millennial ส่วนใหญ่ต้องการสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมาก ดังนั้นถ้าต้องทำงานกับบริษัทที่เคร่งครัดในกฎระเบียบมาก วัน ๆ ให้ก้มหน้าก้มตาทำแต่งาน โดยไม่ใส่ใจสุขภาพจิตของพนักงาน เด็กรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าชีวิตการทำงานทำให้พวกเขาเครียดเกินไป และมันกำลังล้ำเส้นชีวิตของพวกเขา เขาอยากมีเวลาส่วนตัว มีเวลาพักผ่อน ได้ทำกิจกรรมที่ชอบ หรือทำงานเสริมหารายได้ ก็เลยไม่แปลกที่เด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะมองหาบริษัทที่มีสไตล์การทำงานแบบสบายๆ ให้ความสำคัญทั้งด้านการทำงาน และชีวิตส่วนตัวอย่างสมดุล มีตารางการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Work Schedule) สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ (Remote Working) เพราะเด็กรุ่นใหม่เป็นประเภทไม่ชอบการถูกสั่ง หรือถูกบังคับมาก ๆ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องทำงานกับบริษัทที่เคร่งครัดแบบขยับตัวไปไหนไม่ได้ หรืองานที่เครียดหนักจนสุขภาพจิตเสีย พวกเขาก็ไม่ไหวขอบายเหมือนกัน
ความจริงแล้วเด็กรุ่นใหม่ก็เหมือนกับคนทำงานทั่วไปนี่แหละ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่ที่ว่าองค์กรจะมีวิธีการจัดการ หรือดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาได้ยังไง รวมถึงสิ่งสำคัญที่องค์กรเองต้องทำความเข้าใจก่อนก็คือ หากอยากได้ความจงรักภักดีต่อองค์กรจากพนักงาน องค์กรก็ควรจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเพื่อแลกมันมา ซึ่งไม่ได้หมายความแค่เงินเดือนหรือสวัสดิการเท่านั้น แต่รวมไปถึงการให้โอกาสพวกเขาได้เรียนรู้และมีอนาคตในการทำงานด้วย
Facebook fanpage : GeeHRM Line@ : 640vtamj Tiktok : GeeHRM Website: GeeHRM