Phone

Line

Wechat

Hide

อยากเป็นคนใจเย็น ในตอนนี้ เราเป็นคนใจร้อนหรือเปล่า

โดย | ก.พ. 24, 2023 | Uncategorized

อยากเป็นคนใจเย็น

อยากเป็นคนใจเย็น ในตอนนี้ เราเป็นคนใจร้อนหรือเปล่า

อยากเป็นคนใจเย็นเราควรทำอย่างไร ในชีวิตสังคมของมนุษย์เรา ต้องเจอกับผู้คนมากมายในแต่ละวัน และทุกๆคนก็ล้วนมาพบเจอกับเราในหลายๆบริบทต่างกันออกไป ตื่นเช้ามาคนที่อยู่บ้านกับครอบครัวก็เจอสมาชิกในครอบครัว ระหว่างเดินทางก็เจอกับคนแปลกหน้า ใครที่ไปโรงเรียนก็เจอครูอาจารย์ เจอเพื่อนร่วมชั้น เจอรุ่นน้อง เจอรุ่นพี่ ใครที่ไปทำงานก็เจอเพื่อนร่วมงาน ทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้อง เจอหัวหน้างาน เจอลูกค้า ฯลฯ ซึ่งผู้คนเหล่านี้ต่างคนต่างก็มีมุมมองความคิดเป็นของตัวเอง มีความเชื่อส่วนตัว มุมมองและความเชื่อเหล่านี้ทำให้ผู้คนรอบตัวเรา “เข้าใจ” สารและสิ่งรอบตัวต่างกันออกไป ซึ่งการเข้าใจต่างกันนี้ ทำให้เกิดการสื่อสารผิดพลาดได้บ่อยครั้ง และการสื่อสารที่ผิดพลาดก็ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน ผิดใจกัน และสุดท้ายจบที่เรา “หัวร้อน” ไปเอง

“หัวร้อน” คืออาการเดียวกันกับการมีอารมณ์ร้อน ใจร้อน ใจเร็ว อารมณ์เสีย ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของการตัดสินใจที่ไม่รอบคอบ ผิดพลาด และอาจจะทำให้เรามานึกเสียใจภายหลังว่า “ตอนนั้นไม่น่าพูดแบบนี้เลย” หรือ “รู้งี้ไม่น่าทำแบบนั้นกับเขาเลย” และบ่อยครั้งที่เรานึกเสียใจภายหลังแบบนี้ เมื่อเรามองย้อนกลับไปเราก็มักจะพบว่า เราทำไปเพราะเราไม่รู้อะไรบางอย่าง ณ ตอนนั้น ไม่ว่าจะเป็น เราไม่รู้เจตนาหรือไม่รู้ Intention ของเขา หรือจะเป็นเราไม่รู้ว่าเขาจะตอบรับกับเรื่องบางเรื่องอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไหนก็ตาม เขาหวังดีแต่เราเข้าใจผิด หรือเราหวังดีแต่เขาเข้าใจผิด แน่นอนว่าการสื่อสารคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้ไม่เกิดความเข้าใจผิดเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตามบางครั้งการสื่อสารไม่ได้ผิดเพี้ยนเพราะว่าฝั่งสื่อสารพูดไม่ชัดเจนความหมายไม่เคลียร์ หรือว่าคนฟังไม่ได้ตั้งใจฟัง แต่เป็นเพราะว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายมีอารมณ์ร้อน และอารมณ์ร้อนนี้เป็นหนึ่งสาเหตุที่จะทำให้คุณ ตัดข้อความบางอย่าง บิดเบือนข้อมูล หรือตีความตามความเข้าใจของตัวเอง สุดท้ายเมื่อคุณมองกลับไปคุณก็อาจจะคิดได้ว่า “เรื่องแค่นี้เอง ทำไมตอนนั้นฉันคิดไม่ได้นะ?”

ก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงเทคนิคการทำให้ตัวเองใจเย็นลงด้วยการมองเข้าไปในช่วงเวลาแต่ละช่วงของเรา ไม่ว่าจะเป็นการสาวกลับไปหาต้นตอของความรู้สึกในอดีตที่มีผลกับปัจจุบัน หรือการมองหาสิ่งที่ทำให้สบายใจ, ชื่นใจ รอบๆตัวในปัจจุบันเพื่อเป็นการเปลี่ยนมุมมองจากเรื่องกังวลใจ รวมไปถึงเป็นการเตือนตัวเองว่าโลกนี้มันไม่ได้มืดมนไปเสียทีเดียว และสุดท้ายคือการจินตนาการถึงผลลัพธ์ในอนาคต เพื่อกระตุ้นให้ตัวเองเลือกหาวิธีที่จะสร้างผลลัพธ์นั้นได้ เทคนิคทั้งหมดนี้ถูกอธิบายไว้ในบทความ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต กับการควบคุมอารมณ์ ที่จะช่วยให้คุณใจเย็นลง”

เปลี่ยนความคิดของคุณ

บางครั้งเมื่อคุณเจอกับเหตุการณ์บางอย่าง คุณมักจะมองเหตุการณ์ตรงหน้าเพียงด้านเดียวเท่านั้น และอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น มุมมองมีผลกับความคิดเสมอ ดังนั้นการเปลี่ยนมุมมอง จึงเป็นเทคนิคที่มีผลกับการควบคุมอารมณ์และทำให้คุณใจเย็นลงได้ดีมากอีกหนึ่งวิธี

ก่อนอื่นคุณจะต้องเข้าใจและยอมรับให้ได้ว่า เรื่องทุกเรื่องบนโลกนี้มีทั้งด้านดีและด้านร้ายสำหรับคุณเสมอ ไม่มีเรื่องไหนดีจนหาที่ติไม่ได้ และในขณะเดียวกันก็ไม่มีเรื่องใดบนโลกนี้เลวร้ายเสียจนหาประโยชน์ไม่ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะมองเห็นประโยชน์บางอย่างที่มีต่อคุณได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น คุณโดนเจ้านายด่า แน่นอนว่าเอาเรื่องนี้ไปพูดให้หลายๆคนฟังก็คงจะคิ้วขมวดหรือไม่ก็เบะปากไปตามๆกัน แต่ถ้าเราตั้งคำถามง่ายๆว่า “โดนเจ้านายด่ามา ฉันได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้บ้างนะ?” เมื่อตั้งคำถามขึ้นมา เชื่อว่าคุณจะสามารถหาประโยชน์จากเรื่องนี้ได้มากกว่าหนึ่งข้อแน่นอน ตัวอย่างเช่น คุณได้ข้อมูลมาพิจารณาว่าคุณสามารถพัฒนาอะไรได้บ้าง นั่นคือคุณมีโอกาสได้รู้ในสิ่งที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน , คุณคิดได้ว่าต่อไปคุณจะไม่ใช้วิธีการตักเตือนในลักษณะนี้กับคนอื่น เพราะคุณไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น นั่นคือคุณมีพัฒนาการทางอารมณ์สูงขึ้น , คุณอาจจะได้เห็นมุมมองที่แตกต่างกันของเจ้านายคุณ นั่นก็หมายความว่าคุณได้เปิดโลกด้วยการมองออกมาจากสายตาของคนอื่น หรือจะเป็น คุณอาจจะได้เรียนรู้วิธีการรับมือกับการถูกตักเตือนในลักษณะนี้ก็ได้

ดังนั้น เทคนิคง่ายๆก็คือการตั้งคำถามกับตัวเองสั้นๆ ง่ายๆว่า “เรื่องนี้ / เหตุการณ์นี้ มีประโยชน์กับฉันอย่างไรบ้าง?” จิตวิทยาสื่อประสาทมีชื่อเรียกเทคนิคนี้ว่า หลักการ ReFrame หรือการเปลี่ยนมุมมองให้เราโยกมามองด้านที่ดีของเหตุการณ์นั้นๆ หาประโยชน์จากมัน และพํฒนาตัวเองจากมัน

มองทุกอย่างด้วยสายตาของคนที่คุณนับถือ

เชื่อว่าในช่วงชีวิตของทุกๆคนจะต้องเคยพบเจอกับคนที่เราเคารพจากใจจริง เราเคารพเขาเพราะเราชื่นชมในมุมมอง ความคิด วิธีการใช้ชีวิต วิธีการแก้ปัญหา ฯลฯ ซึ่งเทคนิคนี้คือ การมองผ่านสายตาของคนที่เราเคารพนับถือ ด้วยคำถามง่ายๆว่า “ถ้าเป็น…….เขาจะรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างไรนะ?”

การตั้งคำถามนี้มีส่วนช่วยให้คุณวางความเชื่อของตัวเองลง วางมุมมองของตัวเองลง แล้วขยับตัวออกมามองภาพใหญ่ที่เป็นมุมมองของบุคคลที่สาม ด้วยชุดความคิดและความเชื่อที่คุณได้รับมาจากคนที่คุณเคารพเหล่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนมุมมองในลักษณะนี้จะทำให้คุณได้คำตอบใหม่ๆที่อยู่นอกเหนือจากความคิดส่วนตัวของคุณเองแน่นอน ถึงแม้ว่าคุณจะไม่สามารถ ”เป็น” คนที่คุณนับถือได้แน่ๆ แต่การวางความเชื่อของตัวเอง วางมุมมองของตัวเอง จะทำให้คุณ ”หลุด” ออกมาจากความเชื่อเดิมๆ ความคิดเดิมๆ และทำให้คุณเปิดรับวิธีการใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ และในที่สุดก็คือ เปิดโอกาสให้คุณได้รับผลลัพธ์ใหม่ๆนั่นเอง

ตั้งสติก่อน

ก่อนที่จะเริ่มพูดกับใคร หรือแม้แต่หันไปสบตา มองหน้าใคร ตั้งสติก่อนสักนิด ว่าเรากำลังจะสื่อสารกับคนอื่น ไม่ว่าเราจะกำลังรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสียด้วยเรื่องอะไรอยู่ เราไม่ควรแสดงความรู้สึกในแง่ลบเหล่านั้นใส่คนอื่น

หยุดคิดสักนิด ก่อนที่จะเผลอหันไปชักสีหน้า ส่งสายตาแรง ทำหน้าเหวี่ยง หรือพูดอะไรในแง่ลบใส่คนอื่นโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ

อย่ารีบร้อน

เมื่อเรารู้สึกโมโห หงุดหงิด รำคาญใจ ใจของเราจะเริ่มเต้นแรง สมองของเราจะเริ่มคิดไปถึงเรื่องแย่ๆ มากมาย ก่อนที่จะหันไปคุยโต้ตอบกลับใคร หรือหันไปแว้ดใส่ใคร ลองนั่งนิ่งๆ ตั้งสติ ให้เวลาตัวเราได้สงบจิต สงบใจลงบ้าง นับหนึ่งถึงสิบ ถ้านับถึงสิบแล้วรู้สึกร้อนรุ่มในใจ ก็นับต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าใจของเราจะสงบลง

แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

แทนที่จะมานั่งหงุดหงิดอารมณ์เสีย คิดวนเวียนอยู่กับเรื่องแย่ สู้เรารีบแก้ปัญหาที่ต้นเหตุตั้งแต่ตอนนี้เลยดีกว่า เพราะถ้าปัญหานั้นยังไม่ถูกแก้ไข เราก็จะหงุดหงิด คิดวนเวียนอยู๋กับเรื่องนี้ไม่เลิก หากสามารถแก้ปัญหาได้ รีบแก้เสียตั้งแต่ตอนนี้เลยดีกว่า

หาวิธีระบายอารมณ์

แทนที่จะไปอารมณ์เสียใส่คนอื่น ลองหาวิธีระบายอารมณ์ที่ไม่ต้องทำให้ใครเดือดร้อน เช่น ตะโกนร้องเพลงในห้องน้ำ ฟังเพลงมันๆ แล้วโยกตามไปด้วย เล่นเกมแล้วตะลุยด่านแบบเมามัน เป็นต้น เพื่อที่เราจะได้ผ่อนคลายความเครียดลงไปบ้าง

สุดท้าย

คือ การมี “คุณค่า” ที่คุณยอมรับได้ในชีวิตของคุณเอง ซึ่งการเข้าใจชีวิตก็คือการหาคุณค่าที่คุณต้องการมาเติมเต็มในชีวิตจริงๆ ซึ่งหลายๆคนก็มี “คุณค่า” แตกต่างกันออกไป บางคนต้องการอยู่กับคนที่ตัวเองรักอย่างมีความสุข บางคนต้องการชีวิตเงียบๆเรียบง่าย บางคนต้องการช่วยเหลือผู้คน บางคนต้องการความสำเร็จในเรื่องที่เขาสนใจ ฯลฯ

ไม่ว่า “คุณค่า” ของคุณจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าคุณเข้าใจคุณค่าของตัวเอง เรียกได้ว่าคุณจะใช้ชีวิตง่ายขึ้นมาทันที เพราะคุณรู้ว่าคุณต้องการอะไร คุณเห็นเป้าหมายของตัวเอง และคุณจะเห็นเส้นทางของตัวเองอย่างชัดเจน และไม่ว่าคุณจะเหนื่อยแค่ไหน คุณจะมีความสุขกับทุกๆวันของคุณ คุณจะพอใจกับชีวิตของคุณ และคุณจะมีความสุขกับชีวิตของคุณอย่างหาที่เปรียบไม่ได้

และนั่นคือความสงบเยือกเย็นอย่างแท้จริง คุณจะปราศจากอาการร้อนรนที่เกิดจากความไม่รู้ ไม่รู้ว่าคุณต้องการอะไรในชีวิต ไม่รู้ว่าคุณจะเดินไปทางไหน ไม่รู้ว่าคุณจะจัดการกับคนอื่นแบบไหน และไม่รู้ว่าคุณจะทำอย่างไรกับตัวเองดี

เทคนิคเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่คุณจำเป็นจะต้องนำไปฝึกอย่างต่อเนื่องอย่างมีสติ เพราะถ้าคุณไม่ตั้งใจฝึก เทคนิคเหล่านี้ก็จะกลายเป็นแค่เรื่องปกติในชีวิตที่ไม่มีผลอะไรกับคุณมากมายนัก แต่ถ้าคุณตั้งใจฝึกไปพร้อมๆกับการสังเกตตัวเอง คุณจะสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ และคุณจะสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆในชีวิตคุณ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในของคุณ หรือจะเป็นปัญหาที่เกิดกับผู้อื่น สุดท้ายนี้อยากจะฝากคำถามง่ายๆไว้ให้คุณถามตัวเองตอนนี้ว่า

“คุณจะเลือกเปลี่ยนมุมมองของตัวเองแบบไหน ถึงจะทำให้คุณใจเย็นลงได้?”

Facebook fanpage : GeeHRM Line@ : 640vtamj Tiktok : GeeHRM Website: GeeHRM

thTH