การข่มเหงรังแกกันในการทำงาน หมายถึง การกลั่นแกล้ง การทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนรำคาญใจ ไม่สบายใจ โดยใช้อำนาจหรือตำแหน่งหน้าที่ในการงานเป็นเครื่องมือ มีผลให้ผู้ถูกกระทำ ทำงานด้วยความลำบากกาย ลำบากใจ ถูกมองด้วยสายตาไม่ดีจากผู้ร่วมงานคนอื่น กฎหมายได้มีการปกป้องผู้ถูกกระทำ โดยผู้ถูกกระทำสามารถแจ้งความเอาผิดกับคนที่มาแกล้ง มาข่มเหงรังแกได้ เพราะการข่มเหงรังแกในที่ทำงานถือว่าเป็นความผิดคดีอาญา ตามมาตรา 397 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำการให้ได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำในที่สาธารณสถาน หรือต่อหน้าธารกำนัล หรือเป็นการทำในลักษณะส่อไปในทางล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่ง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสอง เป็นการกระทำโดยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท” โดยที่ความผิดตามมาตรานี้จะถือว่าเป็นความผิดแบบ “ลหุโทษ” คือ เป็นความผิดที่สามารถยอมความกันได้ในชั้นพนักงานสอบสวน แต่ถ้าฝ่ายผู้เสียหายต้องการจะร้องทุกข์จนถึงที่สุด ก็สามารถดำเนินคดีไปจนถึงชั้นศาลได้เช่นกัน
จากข้อความข้างต้น มาดูกันว่าตัวอย่าง 7 พฤติกรรมเสี่ยงผิดคดีอาญา ข่มเหงรังแกกัน ในที่ทำงาน ถือเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 397 ว่ามีอะไรบ้าง
- ได้รับมอบหมายงานที่ไม่สามารถทำได้ หรือให้ทำงานนอกขอบเขตรายละเอียดของงาน เพื่อกลั่นแกล้งให้ทำงานผิดพลาด
- การถูกเมินเฉยต่อผลงาน หรือถูกดุด่าว่ากล่าว อย่างรุนแรงต่อหน้าคนในออฟฟิศ เมื่อทำงานผิดเพียงเล็กน้อย
- ถูกสอบถามเรื่องส่วนตัวมากเกินความจำเป็น
- ถูกข่มขู่ว่าถ้าไม่ทำงานที่ได้รับมอบหมาย จะถูกลดเงินเดือน หรือลดผลประโยชน์
- เมื่อทำความผิด ถูกหัวหน้า หรือคนในที่ทำงานเอาไปเล่าต่อให้คนอื่นฟังลับหลัง เพื่อทำให้เสื่อมเสีย
- ถูกประเมินผลการทำงานอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง
- ถูกนำความลับส่วนตัว เรื่องที่ไม่อยากให้ใครรู้ ไปเปิดเผยต่อเพื่อนร่วมงาน และคนในออฟฟิศ เพื่อสร้าง ความอับอาย เช่น เรื่องในครอบครัว สามีมีเมียน้อย หรือเป็นโรคประจำตัวที่สังคมรังเกียจ เป็นต้น
หลาย ๆ ข้อเป็นพฤติกรรมเล็กน้อย ที่หลายคนอาจจะเผลอทำไป โดยลืมคิดถึงจิตใจคนอื่น ซึ่งอาจจะให้เค้าโกรธจนถึงขั้นเอาผิดเราได้ ก็ขอให้มีสติในทุกการกระทำ ถ้าเป็นหัวหน้า ก็จะต้องระวังการใช้อำนาจให้ถูกต้อง ถ้าเป็นเพื่อนร่วมงานด้วยกัน ก็ขอให้คิดถึงใจเขาใจเราให้มาก อยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน อย่างเป็นทีมเดียวกันดีกว่า เพื่อสร้างสังคมออฟฟิศที่น่าอยู่ และทุกคนทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งก็จะส่งผลดีทั้งต่อผลงานที่ทำ และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วย
Facebook fanpage : GeeHRM Line@ : 640vtamj Tiktok : GeeHRM Website: GeeHRM