Phone

Line

Wechat

Hide

แนะนำตัวเองอย่างไร ให้ผู้สัมภาษณ์งานประทับใจ

by | Feb 15, 2023 | Uncategorized

แนะนำตัวเองอย่างไร ให้ผู้สัมภาษณ์งานประทับใจ

การจะแนะนำตัวเองอย่างไรนั้น เป็นสิ่งแรกที่ผู้สัมภาษณ์จะขอให้ผู้สมัครทำ และยังเป็นโอกาสแรกของผู้สมัครที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์ประทับใจ และหากเริ่มต้นได้ดีก็จะทำให้บรรยากาศการสัมภาษณ์งานเป็นไปด้วยดีและประสบความสำเร็จ ช่วงเวลา 2-3 นาทีแรกในการแนะนำตัวเองจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก

การแนะนำตัวดูเผินๆ อาจเป็นเรื่องง่ายๆ จึงทำให้ผู้สมัครมักมองข้ามการเตรียมตัวและฝึกซ้อมแนะนำตัวก่อนสัมภาษณ์งานจริง หลายคนไปคิดและพูดสดเอาหน้างาน ทำให้พลาดโอกาสสำคัญในการทำคะแนนไป Adecco จึงได้สรุป กฎ 5 ข้อ “แนะนำตัวเอง” ให้ผู้สัมภาษณ์ประทับใจ เพื่อช่วยให้ผู้สมัครได้เตรียมความพร้อมและปรับปรุงสคริปต์แนะนำตัวเองก่อนไปสัมภาษณ์งานจริงกัน

แนะนำตัวเองอย่างไร

นั่งหลังตรง ยิ้มแย้ม สบตาผู้สัมภาษณ์

มีการวิจัยที่พบว่าภาษากาย เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลที่สุดในการสื่อสารให้ได้ผล สำคัญกว่าสิ่งที่เราจะพูดเสียอีก ดังนั้นในการฝึกซ้อมแนะนำตัวเองควรฝึกหน้ากระจกไปด้วยเพื่อให้เราได้เห็นท่าทางที่เราแสดงออกมา การนั่งควรนั่งหลังตรง ไม่ไขว่ห้าง ไม่หลุกหลิก เมื่อพูดควรสบตาเพื่อแสดงถึงความสุภาพและให้เกียรติผู้สัมภาษณ์ และยิ้มให้ผู้สัมภาษณ์บ้างเพื่อแสดงออกถึงความเป็นมิตร รอยยิ้มที่จริงใจเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการสร้างความประทับใจ อย่าเผลอแสดงหน้าบูดบึ้งออกมา เพราะมันอาจถูกตีความไปในทางที่ไม่ดีและทำให้คุณพลาดโอกาสได้งานได้เลย

พูดจาสุภาพ น้ำเสียงเป็นมิตร

น้ำเสียงถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญรองลงมาจากภาษากาย ผู้สมัครควรเลือกใช้น้ำเสียงที่เป็นมิตร ไม่พูดจาห้วนๆ การพูดจาควรสุภาพและมีหางเสียงอยู่เสมอ ไม่พูดเสียงดังหรือเบาเกินไป เพราะหากเสียงดังเกินไปอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเหมือนโดนตะโกนใส่ หากเสียงเบาเกินไปก็ดูเป็นคนไม่มั่นใจ นอกจากนี้การพูดเอื่อยหรือช้าจนเกินไปก็อาจถูกตีความว่าเป็นคนเฉื่อยไม่กระตือรือร้นได้ ผู้สมัครจึงควรพยายามรักษาจังหวะและความเร็วในการแนะนำตัวให้อยู่ในระดับที่พอดี ก็จะช่วยเรียกคะแนนให้คุณได้มากขึ้น


แสดงออกถึง passion ในอาชีพ

ไม่ว่าจะสมัครงานตำแหน่งอะไร องค์กรต่างก็ต้องการคนที่มีไฟและแรงจูงใจในการทำงานเพราะนอกจากจะได้คนที่ทำงานเต็มที่แล้วยังสร้างเอเนอร์จี้ที่ดีให้ทีมด้วย ดังนั้นในการแนะนำตัวเองหากผู้สมัครสามารถสื่อสารถึงเป้าหมายและความสนใจในอาชีพ ก็จะช่วยให้สัมภาษณ์เข้าใจที่มาที่ไปของเรามากขึ้น และเมื่อสัมภาษณ์ไปเรื่อยๆ ผู้สัมภาษณ์ก็จะเห็น passion ของคุณที่ชัดขึ้นได้เองผ่านประกายในแววตาของคุณเมื่อคุณเล่าเรื่องตอนได้ทำงานที่ชอบ และรับรู้ว่าคุณตั้งใจมาสมัครงานและสนใจในงานนี้จริงๆ


เล่าถึงผลงานและสิ่งที่ได้เรียนรู้

เมื่อต้องเล่าถึงประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา อย่าเล่าเพียงว่าทำที่ไหนมาบ้าง ทำตำแหน่งอะไร แต่ควรอธิบายเพิ่มเติมสั้นๆ ว่า เรารับผิดชอบอะไร มีผลงานน่าสนใจอะไรบ้าง หรือได้เรียนรู้อะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในตำแหน่งที่สมัครบ้าง เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์มีความมั่นใจว่าเราจะสามารถทำงานในตำแหน่งนี้ได้


นำเสนอจุดขายตัวเอง

เมื่อเล่าประวัติและประสบกาณ์ทำงานแล้วควรปิดท้ายด้วยจุดขายของตัวเองเพื่อให้ผู้สัมภาษณ์ทราบว่าทำไมจึงควรจ้างเรา ดังนั้นผู้สมัครต้องทำการบ้านมาก่อนล่วงหน้า วิเคราะห์ตำแหน่งงานที่สมัครว่าองค์กรต้องการคนแบบไหน แล้วเรามีข้อดีหรือจุดเด่นอะไรที่จะสามารถตอบโจทย์ได้บ้าง และนำจุดขายนั้นมาโน้มน้าวผู้สัมภาษณ์ว่าเราสามารถทำประโยชน์ให้องค์กรได้อย่างไรหากเราได้ทำงานในตำแหน่งนี้

จะตอบคำถามหลังจากการแนะนำตัวเอง ยังไงดี?

เมื่อคุณได้รับคำถามที่ไม่ได้เตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้า คุณควรจะรับมือกับมันยังไงดี เพื่อให้เป็นธรรมชาติที่สุด ก่อนอื่นเลยคือ ถอนหายใจลึกๆ และตั้งสติให้ดี แล้วเริ่มทำตามสเต็ปนี้

1. ตอบอย่างมืออาชีพ

เพราะสิ่งที่คุณพูดสามารถสะท้อนถึงบุคคลิกภาพและวิธีการคิดได้ เรียบเรียงคำพูดของคุณให้ดีก่อนที่จะตอบไป พยายามปะติปะต่อเรซูเม่กับความสามารถและทัศนคติของคุณให้ได้มากที่สุด ทำให้ HR ได้รู้ว่าคุณคือคนที่ดีที่สุดสำหรับตำแหน่งงานนี้

2. ใช้จุดเด่นให้เป็นประโยชน์

อย่าเหมารวมว่าผู้สัมภาษณ์จะอ่านเรซูเม่และรู้ถึงคุณสมบัติที่น่าสนใจของคุณทั้งหมด ดังนั้นคุณควรไฮไลท์จุดแข็งหรือสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกว่าโดดเด่นกว่าผู้สมัครคนอื่นๆในเรซูเม่ด้วย และถึงแม้ HR จะถามถึงข้อด้อยของคุณ คุณควรจะพลิกมันให้กลายเป็นข้อดีของคุณให้ได้ หรือ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาของคุณ

3. พกความมั่นใจไปด้วย

อย่างน้อยที่สุดที่คุณจะให้ HR ได้คือความมั่นใจ ความมั่นใจในตัวเองนั้นสำคัญ เพราะจะทำให้พวกเขาเชื่อมั่นได้ว่าพวกเขาสามารถมั่นใจให้คุณทำตำแหน่งที่คุณสมัครมาได้ ยิ้มเข้าไว้ถึงแม้ใจคุณจะเต้นไม่เป็นจังหวะแค่ไหนก็ตาม

สรุป

ไม่ว่าการสัมภาษณ์ของคุณจะเป็นอย่างไรก็ตาม จงจำไว้เสมอว่า การสัมภาษณ์ที่ดีควรเป็นการสนทนาโต้ตอบกัน ไม่ใช่การการพูดคนเดียว คำตอบของคุณควรเน้นไปที่ทักษะและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสายงานมากที่สุด เพื่อให้ผู้จัดการหรือ HR เล็งเห็นถึงศักยภาพของคุณกับตำแหน่งงานว่ามีความเหมาะสมกันหรือไม่ ที่สำคัญอย่าลืมผ่อนคลาย หรือเล่าเรื่องอื่นๆด้วย เพราะในเรซูเม่ได้บอกข้อมูลเบื้องต้นของคุณไว้แล้ว และอย่าลืมที่จะฝึกฝนการตอบคำถามของคุณอย่างสม่ำเสมอด้วย ขอให้คุณโชคดี

Facebook fanpage : GeeHRM Line@ : 640vtamj Tiktok : GeeHRM Website: GeeHRM

en_USEN