ในการเปิดรับสมัครงานทุกครั้งควรมองหาอะไรจากเด็กจบใหม่ นายจ้างย่อมอยากได้ผู้สมัครที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด ส่วนผู้สมัครงานหากได้มีโอกาสในการทำงานที่ตรงกับตัวเองถนัดและตรงกับเส้นทางอาชีพที่ตัวเองวางแผนไว้ก็จะทำให้ความพึงพอใจในการทำงานหรือ Employee Engagement สูงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีตามมาต่อนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพการทำงาน (Employee Performance) ที่สูงขึ้น และทำให้อัตราการลาออกลดลงอีกด้วย
ทุกอย่างคงดูไปได้ดีและตรงไปตรงมาเพียงแค่บริษัทให้ความสำคัญกับการวางแผนการสรรหาทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ แต่โลกความจริงอาจไม่ได้เรียบง่ายเช่นนั้นในบางสถานการณ์ และในบทความนี้เราจะมาพูดถึงกรณีที่ว่านั้นคือการจ้าง ‘เด็กจบใหม่’
ในกรณีนี้อาจเป็นไปได้ว่าผู้สมัครอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์ในการทำงานมามากมายหรืออาจจะอยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง ทำให้ความน่าจะเป็นที่จะเกิดการสรรหาที่มาพบในภายหลังว่าผู้สมัครงานและตำแหน่งงานไม่ได้มีความสอดคล้องกันเพียงพอมากยิ่งขึ้น อีกด้านหนึ่งนั้นหากนายจ้างมีความสามารถในการจ้างเด็กจบใหม่ได้ดีก็จะนำไปสู่ข้อดีหลากหลายข้อที่เราจะพูดถึงในบทความนี้เช่นกัน
HR ควรมองหาอะไรจากเด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน
โดยสิ่งที่ HR หรือผู้ประกอบการมองหาจากเด็กจบใหม่นั้น แบ่งออกเป็น 2 ประการคือ
คุณลักษณะ (Competencies)
- สามารถเปิดรับความรู้ใหม่และพัฒนาตนเองได้ (50%) – พูดง่าย ๆ ก็คือการเป็น ”น้ำครึ่งแก้ว” นั่นเอง เพราะคงไม่มีผู้ประกอบการที่ไหนต้องการน้ำเต็มแก้วที่ใส่อะไรไม่ได้ หรือน้ำเกลี้ยงแก้วที่ทำอะไรไม่เป็นอย่างแน่นอน
- ทำงานเป็นทีมได้ (50%) – เพราะใน 1 ชิ้นงานนนั้นประกอบด้วยความร่วมมือ ความสามารถจากหลาย ๆฝ่าย หลาย ๆ บุคคล การทำงานเป็นทีม หรือร่วมมือกับผู้อื่นได้จึงเป็นคุณลักษณะที่สำคัญตัวหนึ่ง
- มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ (45%) – โลกใบนี้ คือการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด โดยเฉพาะยุคที่มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยแล้ว ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ก้าวเข้ามาในชีวิตคนเราตลอดเวลา ผู้ที่มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้กับสิ่งต่าง ๆ เท่านั้นที่จะก้าวทันโลก และพัฒนาก้าวหน้าอย่างมีศักยภาพ
ทักษะต่าง ๆ
- ทักษะด้านการสื่อสาร (62%) – เพราะการสื่อสารนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างงยิ่งในทุกยุคทุกสมัย การสื่อสารเป็นตัวเชื่อมโยงทุกหน่วยงาน และทุกคนให้เข้าใจในทิศทางเดียวกัน หากขาดทักษะด้านการสื่อสารแล้วก็จะทำให้งานเกิดประสิทธิผลช้า เกิดการสับสนในการทำงาน
- ทักษะด้านภาษา (62%) – โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้สื่อสารเป็นภาษากลางไปทั่วโลก หรืออาจจะเป็นภาษาที่ 3 อย่าง ภาษาจีนหรือ ภาษาญี่ปุ่น ฯ และยิ่งหากเป็นบริษัทที่ต้องร่วมงานกับชาวต่างชาติ นานาอารยประเทศแล้ว ทักษะนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องการอย่างมาก ทำให้น้อง ๆ มีราศีส่องสว่างกว่าใครเลยทีเดียว
- ทักษะเฉพาะตามสายอาชีพ (54%) – เป็นเหมือน keyword ที่สายอาชีพนั้นต้องมี เช่น อาชีพด้านการออกแบบ หรือกราฟฟิกดีไซเนอร์ ผู้สมัครจำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานในการใช้โปรแกรมออกแบบ อาทิ Photoshop, Ai, AutoCAD เป็นต้น
แม้เด็กจบใหม่ส่วนใหญ่ อาจจะยังไม่มีประสบการณ์การทำงานมากนัก แต่คุณลักษณะ และทักษะต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการมองหานั้นก็เป็นสิ่งที่สามารถทดแทนประสบการณ์ทำงานนนั้นได้อย่างดี หากน้อง ๆ ไม่อยากอยู่ในสภาวะว่างงานนาน ๆ ลองสำรวจตัวเองว่ามีคุณลักษณะ และทักษะต่าง ๆ ตามที่ผู้ประกอบการต้องการหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านั้นสามารถจะเรียนรู้ ปรับปรุง และเพิ่มเติมได้ด้วยความตั้งใจ และขยันหมั่นเพียร
ประโยชน์และข้อดีของการจ้างเด็กจบใหม่เข้าทำงาน
1. มุมมองการทำงานที่สดใหม่
เด็กจบใหม่เปรียบเหมือนผ้าขาวที่ยังรอการถูกวาด ด้วยความที่พวกเขายังไม่เคยทำงานแบบเป็นจริงเป็นจังในสายงานไหนมาก่อน อย่างมากก็อาจเคยทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยหรือฝึกงานมาบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ลงลึกมากมายนัก มองในแง่มุมหนึ่งพวกเขาอาจจะดูเหมือนยังไม่มีประสบการณ์อะไรแต่สิ่งที่มาพร้อม ๆ กันก็คือพวกเขายังไม่ถูกความเคยชินหรือวิถีปฏิบัติในโลกการทำงานไปเป็นกรอบในวิธีการคิด นั่นทำให้นี่คือโอกาสที่องค์กรจะได้รับแนวคิดหรือไอเดียใหม่ ๆ เพื่อเติมเข้ามาให้กับคนในองค์กรที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์รในแต่ละที่ด้วยว่าได้ให้ความสำคัญกับการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้หรือไม่ มีการทำ Knowledge sharing session หรือเปล่า มีการเปิดกว้างทางความคิดไหม ลักษณะเป็นการทำงานแบบชี้นิ้วสั่งหรือเปิดโอกาสให้พนักงานมีอิสระในการแสดงความคิดสร้างสรรค์และเลือกวิธีการทำงานที่สอดคล้องกับธรรมชาติของตัวเอง
ซึ่งหากวัฒนธรรมองค์กรของท่านเอื้อต่อเด็กจบใหม่ให้ได้แสดงออกถึงศักยภาพที่มี ท่านอาจจะต้องประหลาดใจว่ามีไอเดียมากมายเพียงใดจากเด็กจบใหม่ที่ทีมงานและองค์กรของท่านสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ เพราะในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว พวกเขาที่เป็นสายเลือดใหม่เหล่านี้เองที่จะเป็นหนึ่งในส่วนช่วยที่จะทำให้องค์กรของท่านทันสมัยและไม่ตกยุคนั่นเอง
2. เด็กจบใหม่ไฟแรง
เด็กจบใหม่มักจะมีแรงผลักดันและมีความกระหายใคร่รู้จนถึงขั้นที่ว่ามีคำติดปากเรียกกันเลยว่า ‘เด็กจบใหม่ไฟแรง’ (ซึ่งตรงข้ามกับปัญหาที่บางองค์กรพบเจอพนักงานเก่าที่ทำงานมานานหลายปีและมีภาวะหมดไฟ) แล้วหลาย ๆ ครั้งทีเดียวที่พลังงานนี้เองที่ทำให้พี่ ๆ รุ่นเก่าต้องแอบชื่นชม ซึ่งนี่เป็นโอกาสดีมาก ๆ สำหรับบริษัทที่จะต้องมาร่วมคิดกันว่าจะทำอย่างไรที่จะรักษาพลังในการทำงานของเด็กจบใหม่ไม่ให้มอดดับไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งหากว่าปัญหาไฟมอดสามารถเกิดขึ้นกับแม้แต่กับเด็บจบใหม่ที่ควรจะมีพลังล้นเหลือกลุ่มนี้แล้ว ก็ยิ่งทำให้ผู้นำองค์กรและทรัพยากรบุคคลต้องเริ่มกลับมาตั้งคำถามกับวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองอย่างเร่งด่วน
3. เด็กจบใหม่เก่งเทคโนโลยี
เทคโนโลยีไม่เคยหยุดพัฒนา และคนรุ่นใหม่ ๆ ก็จะเติบโตขึ้นมาในยุคที่เทคโนโลยีมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป นั่นทำให้การจ้างเด็กจบใหม่เป็นการจ้างเอาทักษะในการประยุกย์ใช้เทคโนโลยีในการทำงานไปด้วยในตัว ซึ่งแน่นอนว่าเด็กจบใหม่ก็จะต้องเรียนรู้กระบวนการทำงานที่องค์กรมีอยู่ในปัจจุบันแต่ในขณะเดียวกันองค์กรก็จะต้องมีการเปิดใจรับฟังถึงวิถีการทำงานแบบใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเช่นกัน ซึ่งถ้าหากมองในมุมนี้ การเกิด Digital Transformation ในองค์กรก็สามารถเกิดขึ้นได้ในลักษณะจากล่างขึ้นบนได้เช่นกัน(Bottom up)
เรื่องนี้องค์กรจะต้องมีการหาจุดสมดุลที่เหมาะสมในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ หากว่ามีการเปลี่ยนวิธีการทำงานกันทุกวันก็อาจจะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในการทำงานที่ประกอบไปด้วยคนหลากหลายช่วงวัยที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีแตกต่างกันไป ในขณะที่ถ้าไม่มีการปรับเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้เลยก็อาจทำให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันลดลงอันเป็นผลมาจากประสิทธิภาพในการทำงานที่ตามองค์กรอื่น ๆ ไม่ทัน และเป็นพลังของเด็กจบใหม่นี้เองที่จะช่วยเติมพลังแห่งเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาในองค์กรอย่างไม่เคยขาดสายรุ่นแล่วรุ่นเล่า เพียงแต่องค์กรต้องมีวัฒนธรรมที่เปิดรับให้คนรุ่นใหม่ ๆ ได้มีบทบาทในการกำหนดวิถีการทำงานมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง
Facebook fanpage : GeeHRM Line@ : 640vtamj Tiktok : GeeHRM Website: GeeHRM